ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลสะอาด

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร​

ขนมทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง ขนมไทย เป็นอาหารทานเล่นของมนุษย์ที่มีมาแต่โบราณ ถ้าเป็นเรื่องกินนอกจากการทานอาหารคาวแล้วหลายคนมักต้องตบท้ายด้วยขนมหวานกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นขนมหวานประเภทใดก็ตามและอย่างน้อยก็ยังสะท้อนให้เห็นได้ว่าหนึ่งในอาหารที่เรามักเลือกทานตบท้าย โดยส่วนใหญ่มักเป็นขนมไทยด้วยกันทั้งสิ้น ช่างน่าปลาบปลื้มและน่ายินดียิ่งนัก ที่สัญลักษณ์แห่งความเป็นไทยมิขาดหายไป คนไทยยังคงนิยมความเป็นไทยๆ เช่นเดิม ดูได้จากขนมไทยต่างๆ ที่ยังมีคนนิยมทำขายและทำกินกันในครอบครัวอย่างตลอดต่อเนื่อง สำหรับขนมไทยนั้นมีให้เลือกสรรเลือกทำและเลือกทานกันอย่างมากมาย เนื่องด้วยหน้าตาสีสันที่งดงาม หอมหวานด้วยรสชาติอันหวานละมุนลิ้น บ่งบอกได้ถึงความละเมียดละไมและการจัดแต่งอย่างประณีตงดงาม ความตั้งใจทำอันสุดแสนประณีตนี้สะท้อนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกอย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การเก็บถนอมไว้เหลือเกินยิ่ง ขนมไทยนั้นมีให้เลือกทานกันมากมาย หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันกับทองหยิบ ทองหยอด ทองม้วน ขนมชั้น ขนมเปียกปูน บัวลอย สังขยา ขนมหม้อแกง และถ้วยฟู เป็นต้น 

ขนมไทยนั้นมีให้เลือกทานกันอย่างมากมายละลานตาไปหมด ขนมไทยนอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องความหอมอร่อยชวนทานแล้ว ขนมไทยยังมีชื่อที่ไพเราะเป็นมงคลเหมาะในการที่จะนำมาใช้เพื่อความเป็นสิริมงคลในงานพิธีมงคลต่างๆอีกด้วย ทั้งเพื่ออวยพร แสดงความยินดีชื่นชม แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง ความเจริญก้าวหน้า เป็นต้น ขนมทองหยอด เป็นขนมในตระกูลทองอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ประกอบในพิธีมงคลต่างๆ และมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษๆ แทนคำอวยพรหมายถึง ขอให้ร่ำรวย มีเงินมีทอง มั่งมีศรีสุข ขนมทองหยิบ ถือเป็นขนมมงคล เพราะจะมีลักษณะสวยงามเหมือนกับดอกไม้สีทอง เป็นขนมที่ต้องใช้ความสามารถและความพิถีพิถันในการทำ ต้องจับกลีบให้มีความงดงามเหมือนกลีบดอกไม้ ชื่อขนมทองหยิบยังถือเป็นชื่อที่มีความเป็นสิริมงคล จึงนิยมนำมาใช้ประกอบพิธีมงคลต่างๆ หรือเป็นของขวัญ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย หยิบจับการงานสิ่งใดก็จะเป็นเงินเป็นทอง เหมือนดังชื่อขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง เป็นขนมในตระกูลทองอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้น นิยมนำมาใช้ในงานมงคลสมรสและถือเคล็ดกันว่าต้องปล่อยให้ขนมเป็นเส้นยาวๆ ห้ามตัดขนมให้สั้นอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเชื่อว่าคู่บ่าวสาวจะได้ครองชีวิตคู่และรักกันยืนยาวดั่งเส้นของขนมตลอดไป 

โดยมีผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร คือ นางสาคร โพธิ์ศรีบิ้ง อยู่บ้านเลขที่ 23 หมู่ที่ 3 ตำบลสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีความรู้ความสามารถด้านการทำขนมไทย ขนมหวาน เช่น เม็ดขนุน ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น หม้อแกง และอื่นๆ อีกหลายชนิด

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรกรรม

เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรผสมผสาน คือ ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ มีสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดจะต้องสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในไร่นาอย่างเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อม และเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยการทำการเกษตรหลากหลาย กิจกรรมนั่นต้องทำในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีปฏิสัมพันธ์ในทางเกื้อกูลซึ่งกันและกันของกิจกรรมการผลิต โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดด และอากาศอย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รูปแบบการเกษตรผสมผสานช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโดยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของรายได้ เนื่องจากมีความหลากหลายในกิจกรรมการผลิต ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้รายได้ครัวเรือนมาจากหลายกิจกรรมและสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ค่าใช้จ่ายลดลง รวมทั้งลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอก เกษตรกรสั่งสมกระบวนการเรียนรู้จากกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกษตรกรจัดสรรพื้นที่ตรงความต้องการในครัวเรือน มีการปลูกข้าว ไม้ผล พืชผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไว้บริโภคในครัวเรือนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของเหลือใช้ภายในพื้นที่ เช่น วัชพืชใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ รากไม้และกิ่งไม้ไว้ทำถ่าน ทั้งนี้ เมื่อเกิดผลผลิตจากกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย จึงทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันผลผลิตให้เพื่อนบ้าน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและสามารถขยายเครือข่ายการทำการเกษตรดังกล่าวให้แพร่หลายไปสูระดับชุมชนได้ต่อไป

โดยมีผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง คือ นายอุทาน มะเสนา อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 5 ตำบลสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด การทำการเกษตรแบบธรรมชาติและการปรับใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ขยายพื้นที่ทำเกษตรแบบ ผสมผสานโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทย

การทำลูกประคบ การทําลูกประคบสมุนไพร คือ การใช้สมุนไพรหลายๆ อย่างมาห่อรวมกัน ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มี น้ำมันหอมระเหย โดยนํามานึ่งใหญ่ร้อนประคบบริเวณปวดหรือเคล็ดขัดยอก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบ ไหลเวียนโลหิตได้ดีเยี่ยม ด้วยศาสตร์แห่งการคิดค้นที่สามารถนําสานสําคัญในสมุนไพรมาช่วยในการดูดซึมเข้า สู่ผิวหนังได้อีกด้วย ประโยชน์ของลูกประคบโดยรวมก็ ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัด ยอก และลดปวดได้ ประโยชน์ของการประคบ (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)

1. บรรเทาอาการปวดเมื่อย ประโยชน์ของการประคบ (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)

2. ช่วยลดอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อหลัง 24-48 ชั่วโมง

3. ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

4. ช่วยใหญ่เนื้อเยื่อ พังผืด ยืดตัวออก

5. ลดการติดขัดของข้อต่อ

6. ลดอาการปวด

7. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต 

การแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้หมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย และการประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา กล่าวโดยรวมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย หมายความถึง พื้นความรู้ความสามารถหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ไทย หรือจะให้ความหมายตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติ “ครูภูมิปัญญาไทย” ภูมิปัญญาไทย หมายความถึง องค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรรปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาไทย มีลักษณะเป็นองค์รวม และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการ และการปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ ด้านการแพทย์แผนไทย อันได้แก่ ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น ยาจากสมุนไพรอันมีอยู่หลากหลาย การนวดไทย การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ถือว่าเป็นระบบการแพทย์แบบองค์รวมระหว่าง กาย จิต สังคมและธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นว่าการแพทย์แผนไทยไม่ได้มุ่งเน้นเป็นแต่เพียงการบำบัดโรคทางกาย หรือการรักษาเฉพาะส่วนอย่างการแพทย์ตะวันตก แต่เป็นการดูแลสุขภาพของคนทั้งร่างกาย และจิตในระดับปัจเจกบุคคล และยังสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนหรือสังคม และยังเอื้อประสานความสมดุลของระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจึงต้องเป็นองค์ความรู้ ระบบความคิด ความเชื่อของชุมชนได้จากประสบการณ์ที่สั่งสม ปรับตัว และดำรงชีพตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม-วัฒนธรรมในแง่การจัดการป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพของคนไทยที่มีการพัฒนาสืบทอดกันมา รากฐานหรือองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยนั้นเป็นผลจากการใช้สติปัญญาปรับตัวตามสภาวะการณ์ต่างๆ เป็นภูมิปัญญาอันเกิดจากประสบการณ์ของคนไทยเอง หรืออาจเป็นภูมิปัญญาจากภายนอกที่ได้มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอด ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต และเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชนชาติอื่น และรับเอามาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม-วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทย

โดยมีผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทย คือ นางทองเคียบ ทนุการ อยู่บ้านเลขที่ หมู่ที่ 14 ตำบลสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด การนวดแผนไทย และ การทำลูกประคบจากสมุนไพร

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรม/จักรสาน

ตะกร้าไม้ไผ่สาน หัตถกรรมเครื่องจักสาน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่น ที่ใช้ภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประโยชน์ในการดำรงชีวิต จะเห็นได้ว่าหัตถกรรมเครื่องจักสานมีมานานแล้วและได้มีการพัฒนามาตลอดเวลาโดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เอาการรู้หนังสือมาเกี่ยวข้อง การเรียนรู้ต่างๆ อาศัยวิธีการฝึกหัดและบอกเล่าซึ่งไม่เป็นระบบในการบันทึก (ชูเกียรติ์ ลีสุวรรณ, 2535) สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้ ความรู้ที่สะสมที่สืบทอดกันมาจากอดีตมาถึงปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นกระบวนถ่ายทอดความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นคงอยู่ต่อเนื่องและยั่งยืน การถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องจักสาน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งที่จะให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องจักสานนั้นๆคงอยู่ตลอดไป ซึ่งผลจากการศึกษากระบวนถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องจักสานนั้น จะนำไปเป็นข้อมูลที่จะนำไปไปพัฒนากระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาในชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และดำรงอยู่คู่สังคมสืบต่อไป

โดยมีผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรม/จักรสาน คือ นายอำนวย พิจารณา อยู่บ้านเลขที่ หมู่ที่ 4 ตำบลสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด การสานตะกร้าไม้ไผ่ การทำตะกร้าเชือกมัดฟาง การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และ การทำไม้กวาด ทางมะพร้าว

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรม/จักรสาน

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิธีกรรมทางศาสนา

ในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้นมีมากมายหลายอย่างต่างกันไป ตามแต่ละวิธีการที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ และแต่ละอย่างล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติ–ศาสนา–องค์พระมหากษัตริย์ และประจำจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยของเรามาเป็นเวลานับเป็นพัน ๆ ร้อยๆ ปีผ่านมา และจะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปตลอดกาลนาน เมื่อกล่าวโดยจำเพาะเจาะจงแล้ว

มูลเหตุแห่งการทำบุญมี 3 ประการด้วยกัน คือ 

1. บุญในวันสำคัญของชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์

2. บุญประจำประเพณีในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ สารท เข้าพรรษา ออกพรรษาเป็นต้น

3. บุญที่มีความเกี่ยวข้องเฉพาะตัวบุคคล งานบุญทั้งหมดนี้ ล้วนมีศาสนพิธี คือการกระทำตามหลักเกณฑ์ของศาสนาที่วางไว้นั้นเหมือนกันหมด ซึ่งนอกเหนือไปจากผู้เป็นเจ้าภาพ จะดำเนินการกำหนดวัน – เวลา ทำบุญนิมนต์พระ เชิญญาติมิตร หรือแขกเหรื่อ จัดสถานที่ และการตระเตรียมสิ่งของ และเครื่องใช้ต่างๆไว้ก่อนงานอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ศาสนพิธี ได้แก่ การกล่าวคำบูชาพระและอาราธนาศีลเป็นต้น จนกว่าพิธีการจะเสร็จเรียบร้อยนั้น นับเป็นพิธีการระดับหัวใจของงานทีเดียวที่จะต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ต่างๆ ดังนี้ คือ

1. ได้บุญกุศลอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามพิธีการที่ต้องการเจ้าภาพ

2. ชื่อว่ายกย่องเชิดชูพิธีการทำบุญนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกต้องตามประเพณี วัฒนธรรม ต่อไป

3. เป็นเกียรติคุณแก่ผู้เป็นเจ้าภาพ และผู้ร่วมกุศลทั้งหลายให้เกิดเพิ่มพูนกุศล จิตศรัทธามากยิ่งๆ ขึ้นไป การพยายามทำตามคำสอนในหลักการนี้เป็นการพยายามทำความดีที่เรียกว่า ทำบุญ และการทำบุญนี้

พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญไว้โดยย่อ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” มี 3 ประการ คือ

1. ทาน การบริจาคสิ่งของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

2. ศีล การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่ล่วงบัญญัติที่ทรงห้าม

3. ภาวนา การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในการกุศล บุญกิริยาวัตถุนี้ เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทประพฤติตามหลักการที่กล่าวข้างต้นและเป็นเหตุให้เกิด ศาสนพิธีต่างๆขึ้น โดยนิยม

ประโยชน์ของศาสนพิธี

1. เป็นวิธีการดึงคนเข้าสู่หลักธรรมทางพระศาสนา

2. เป็นรูปแบบวิธีการที่มีแบบแผน งดงาม สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย

3. เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในสังคมมีความรักสามัคคีปราถนาดีต่อกัน

4. ผู้ที่ศึกษาศาสนพิธีดีแล้ว ย่อมเป็นผู้ฉลาดในพีธีกรรมที่ต้องปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศล

5. สามารถจรรโลงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญยั่งยืนสืบไป

โดยมีผู้นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิธีกรรมทางศาสนา คือ นายเถลิง มลาวาสน์ อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 5 ตำบลสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ  ทะเบียนปราชญ์ชาวบ้านตำบลสะอาด

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิธีกรรมทางศาสนา